กรมชลฯ จัดงานเกี่ยวข้าว ตอกย้ำความสำเร็จหลัง MOU ปรับปฏิทินเพาะปลูกลุ่มน้ำปากพนัง

       วันนี้ (10 เมษายน 2568) ณ ศูนย์เรียนรู้ปรับปฏิทินปลูกข้าวนาปีหลังน้ำลด อำเภอหัวไทร จังหวัดนครศรีธรรมราช กรมชลประทาน นำโดย นายเดช เล็กวิชัย รองอธิบดีกรมชลประทาน พร้อมด้วย นายวิวัธน์ชัย คงลำธาร ผู้ทรงคุณวุฒิด้านวิศวกรรมโยธา (ด้านควบคุมการก่อสร้าง) นายก่อพงศ์ เจ้ยแก้ว ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 15 ผู้อำนวยการส่วน ผู้อำนวยการโครงการ กลุ่มเกษตรกร ประชาชน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมกิจกรรมเกี่ยวข้าวในพื้นที่อำเภอหัวไทร จังหวัดนครศรีธรรมราช โดยมี นายชวกิจจ์ สุวรรณคีรี รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นประธานเปิดงาน เพื่อตอกย้ำความสำเร็จของโครงการปรับปฏิทินปลูกข้าวนาปีหลังน้ำลด ในลุ่มน้ำปากพนัง (พื้นที่นำร่องอำเภอหัวไทร) ภายใต้บันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ที่ได้ลงนามไปเมื่อวันที่ 13 มกราคม 2568 ที่ผ่านมา โดยมีภาคีเครือข่ายทั้งหน่วยงานภาครัฐ ท้องถิ่น และกลุ่มเกษตรกร ร่วมขับเคลื่อนโครงการฯ
 
       สำหรับโครงการดังกล่าว เกิดขึ้นเพื่อแก้ไขปัญหาข้าวขาดน้ำ ลดความเสียหายจากภัยแล้ง ซึ่งหลายฝ่ายได้ร่วมกันกำหนดแนวทางบริหารจัดการน้ำและช่วงเวลาในการเพาะปลูกใหม่ให้เหมาะสม โดยมีการแลกเปลี่ยนข้อมูลและการประชุมร่วมกันหลายหน่วยงาน อาทิ สำนักงานเกษตรและสหกรณ์จังหวัดนครศรีธรรมราช สำนักงานเกษตรจังหวัดนครศรีธรรมราช ศูนย์วิจัยข้าวนครศรีธรรมราช สำนักงานเกษตรอำเภอ สำนักงานสภาเกษตรกรจังหวัดนครศรีธรรมราช องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และเกษตรกรในพื้นที่ ครอบคลุม 6 อำเภอ ได้แก่ อำเภอหัวไทร ชะอวด เฉลิมพระเกียรติ เชียรใหญ่ ปากพนัง และอำเภอเมืองนครศรีธรรมราช มีการกำหนดแนวทางแก้ไขอย่างเป็นรูปธรรม โดยให้เกษตรกรเพาะปลูกข้าวให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 15 มกราคมของทุกปี ทำให้กรมชลประทานสามารถวางแผนจัดสรรน้ำและติดตั้งเครื่องสูบน้ำเคลื่อนที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ถือเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญของการจัดการเกษตรกรรมเชิงระบบในพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนัง
 
       ทั้งนี้ ในฤดูเพาะปลูกปี 2567/68 มีเกษตรกรเข้าร่วมโครงการมากถึง 2,237 ครัวเรือน ครอบคลุมพื้นที่ 26,255 ไร่ โดยอำเภอหัวไทรเป็นพื้นที่นำร่อง มีเกษตรกรเข้าร่วมถึง 1,010 ครัวเรือน บนพื้นที่ประมาณ 10,350 ไร่ ผลจากการปรับปฏิทินทำให้ผลผลิตข้าวเฉลี่ยเพิ่มขึ้นจากไม่เกิน 800 กิโลกรัมต่อไร่ เป็นมากกว่า 1 ตันต่อไร่ และคาดว่าจะสามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตแล้วเสร็จภายในสิ้นเดือนเมษายน 2568
 
       ในส่วนของการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือปรับปฏิทินเพาะปลูกในครั้งนี้ นับเป็นต้นแบบของการบูรณาการระหว่างรัฐ ท้องถิ่น และเกษตรกร ในการบริหารจัดการน้ำ เป็นการวางรากฐานสู่การพัฒนาการเกษตรแบบยั่งยืนในระดับพื้นที่ ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกรชาวลุ่มน้ำปากพนังได้อย่างเป็นรูปธรรมและยั่งยืน
 
 
 

Image

Image

 

Image

Image