
ประวัติสำนักงานชลประทานที่ 15
ช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ในปี พ.ศ. 2488 รัฐบาลในขณะนั้นมีนโยบายฟื้นฟูบูรณะประเทศ รวมทั้งชดใช้ค่าเสียหายและชำระหนี้สินเนื่องจากภาวสงคราม จำเป็นจะต้องจัดหารายได้เพิ่มขึ้น ในช่วงนั้นข้าวและไม้สักเป็นสินค้าส่งออกสำคัญที่ทำรายได้ให้กับประเทศเป็นลำดับต้นๆ รัฐบาลจึงมีนโยบายเร่งรัดการผลิตข้าวเพื่อส่งออกเพิ่มขึ้น นอกเหนือจากการใช้บริโภคภายในประเทศ เพื่อสนองนโยบารัฐบาลดังกล่าวข้างต้น
กรมชลประทานจึงได้เร่งรัดงานพัฒนาแหล่งน้ำที่หยุดชะงักในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยได้ขยายหน่วยงานชลประทานเพิ่มขึ้นให้ครอบคลุมไปทั่วประเทศ โดยได้จัดตั้งโครงการชลประทาราษฎร์ขึ้นทั่วทุกภูมิภาคสำหรับภาคใต้ได้จัดตั้งโครงการชลประทานราษฎร์ส่วนใต้ขึ้น ในปี พ.ศ.2490 มีที่ตั้งสำนักงานอยู่ที่อำเภอเมือง จังหวัดพัทลุง มีหน้าที่รับผิดชอบงานชลประทานในเขตภาคใต้ทั้งหมด และได้ก่อสร้างโครงการชลประทานแห่งแรกขึ้นในภาคใต้ เมื่อปี พ.ศ.2491 คือ โครงการทำนบคลองพิกุลทอง ที่อำเภอควนขนุน จังหวัดพัทลุง พร้อมกันนั้นก็ได้เริ่มสำรวจวางโครงการพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อช่วยเหลือการเพาะปลูกในเขตภาคใต้ และได้ก่อสร้างโครงการชลประทานต่อเนื่องมาเป็นลำดับตามกำลังงบประมาณที่ได้รับ
เมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2518 ได้มีพระราชกฤษฎีกาแบ่งส่วนราชการ กรมชลประทานออกเป็น กองในส่วนกลาง 22 กอง และสำนักงานชลประทานในส่วนภูมิภาค 12 สำนักงาน ในส่วนของภาคใต้แบ่งเป็น 2 สำนักงาน คือ สำนักงานชลประทานที่ 11 จังหวัดนครศรีธรรมราชและสำนักงานชลประทานที่ 12 จังหวัดสงขลา สำนักงานชลประทานที่ 11 มีขอบเขตความรับผิดชอบพื้นที่ภาคใต้ตอนบน 7 จังหวัด ตั้งแต่จังหวัดชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช ระนอง พังงา กระบี่ และภูเก็ต ตั้งแต่จังหวัดตรัง พัทลุง สงขลา สตูล ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส
ในปี พ.ศ.2537 ได้มีพระราชกฤษฎีกาแบ่งส่วนราชการกรมชลประทานขึ้นใหม่ โดยมีกองในส่วนกลางรวม 25 กอง แต่ก็ยังคงมีสำนักงานชลประทานในส่วนภูมิภาค จำนวน 12 สำนักงานเท่าเดิม
ในปี พ.ศ.2540 ได้มีพระราชกฤษฎีกาแบ่งส่วนราชการกรมชลประทานขึ้นใหม่โดยมีกองในส่วนกลางรวม 7 กอง 9 สำนักฯ โดยในส่วนภูมิภาคยังคงมีสำนักงานชลประทาน จำนวน 12 สำนักงานเท่าเดิม
ในปี พ.ศ.2555 ได้มีพระราชกฤษฎีกาแบ่งส่วนราชการกรมชลประทานขึ้นใหม่ โดยมี 3 กอง 1 ศูนย์ 11 สำนักฯ และในส่วนภูมิภาคได้ขยายเพิ่มสำนักชลประทานเป็น17 สำนักฯ จนถึงปัจจุบัน